หนึ่งชีวิตที่น่าอิจฉาที่สุดคือการค้นพบว่าจุดมุ่งหมายสูงสุดของการมีชีวิตอยู่คืออะไร เช่นเดียวกับคุณลุงสุดใจ-คุณป้าทองห่อ จำปา สมาชิกเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรุ่นแรกของเมืองไทยที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยที่ดินจำนวน 25 ไร่ พร้อมแม่โคสาว 6 ตัว เพื่อลงแรงให้ “คนเลี้ยงโคนม” กลายเป็นอาชีพที่มั่นคงของเกษตรกรไทย หนึ่งในภารกิจท้าทายขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย หรือ อ.ส.ค. ที่วันนี้ชีวิตจริงของครอบครัว “จำปา” ได้พิสูจน์แล้วว่านี่คือ “โคนมอาชีพพระราชทาน” ที่สร้างอนาคตให้ครอบครัวได้
“สุดใจ จำปา” เดิมเป็นคนที่ราบสูง จังหวัดศรีสะเกษ หนีบพกวุฒิการศึกษาระดับ ปวช.จากวิทยาลัยเกษตรกรรม บ่ายหน้ามาจากบ้านเกิดเพื่อสอบบรรจุเป็นข้าราชการขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย หรือ อ.ส.ค. ที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ด้วยอัตราเงินเดือน 500 บาทเมื่อปี 2505 เพราะเชื่อว่าตนคงเอาดีได้ด้วยอาชีพนี้ และเมื่อบรรจุแล้ว ลุงสุดใจยังได้เรียนรู้เพิ่มเติมในหน้าที่เกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงและดูแลโคนมครั้งแรก ที่ศูนย์การเลี้ยงโคนม จังหวัดชลบุรี ของ อ.ส.ค. ยิ่งทำให้เขามั่นใจว่าโคนมพันธุ์เรดเดนจากเดนมาร์กพันธุ์นี้น่าจะเป็นอีกทางเลือกที่สดใสของเกษตรกรไทยในที่สุด
จากนั้นลุงสุดใจยังได้สมัครเข้าเป็นนักเรียนโคนมรุ่นแรกของ อ.ส.ค.ที่เปิดให้การอบรมตั้งแต่ปี 2506-2511 ตลอดระยะเวลา 5 ปี และที่สุดได้ผ่านการสอบคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการเป็นเกษตรกรที่ได้รับพระราชทานที่ดินสำหรับเลี้ยงโคนม จากจำนวนทั้งหมด 150 ครัวเรือน ได้รับพระราชทานที่ดินจำนวน 25 ไร่ พร้อมโรงเรือน และแม่โคสาวอีก 6 ตัว โดยมีเงื่อนไขว่า 3 ปีแรกยังไม่ต้องชำระเงินต้นและดอก ตลอดระยะเวลา 10 ปีหากนำเงินมาชำระ 3 แสนบาทจึงจะได้สิทธิขาดในการดูแลที่ดิน และลูกโคผู้ที่เกิดขึ้นระหว่างเลี้ยงจะเป็นของ อ.ส.ค. และมี อ.ส.ค.เป็นพี่เลี้ยงในการเลี้ยงโคนมทั้งหมด
ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่าเป็นอาชีพ เรามีครอบครัว เพียงแค่ลงแรงอย่างน้อยก็มีที่อยู่ที่กิน ซึ่งคุณป้าเองก็มีที่ดินที่ปลูกน้อยหน่าบ้าง ข้าวโพดบ้าง ที่ต้องทำเสริม เพราะแม่โคที่ได้มาตอนนั้นยังไม่ให้น้ำนม อาหารสัตว์ก็อาศัยเกี่ยวหญ้าขนตามริมคลองมาเลี้ยง เวลามีปัญหาทั้งเรื่องโรค หรือเรื่องการผสมเทียมจะมีเจ้าหน้าที่ อ.ส.ค.มาเป็นพี่เลี้ยงให้”
[center]
วันเริ่มต้นเป็นสมาชิก อ.ส.ค.ของลุงสุดใจมีป้าทองห่อคู่ชีวิตเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ในการสร้างให้จำปาฟาร์มแข็งแรงขึ้น เพราะนอกเหนือจากการทำไร่น้อยหน่า ไร่ข้าวโพด ไร่มันสำปะหลังผลัดเปลี่ยนตามฤดูกาลแล้ว ในวันนั้นสองสามีภรรยายังต้องเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่เพื่อเสริมให้มีรายได้เพิ่มเติมในช่วงที่น้ำนมยังไม่สามารถเป็นรายได้หลักของครอบครัวได้
จากแม่โคสาว 6 ตัว นับแต่ปี 2505 นั้น วันนี้จำปาฟาร์มของลุงสุดใจมีจำนวนโคนมทั้งสิ้นกว่า 80 ตัวที่สามารถให้น้ำนมได้วันละ 500 กิโลกรัม โดยส่งให้ อ.ส.ค.ทั้งหมดในกิโลกรัมละ 17.30 บาท สำหรับน้ำนมเกรด 1 และลดหลั่นกันไปตามคุณภาพน้ำนม
“สองคน เราก็ทำไป ปรับปรุงไป ขยายไปเรื่อยๆ ตอนไหนที่ทำไม่ไหวเยอะเกินไปก็ขายออกไป ลูกๆ 3 คนตอนแรกที่เรียนจบมาเขาก็ไปทำงานบริษัทเอกชน ไม่ได้มาช่วย เหนื่อยทำไม่ไหวก็ต้องขาย ยิ่งตอนที่ลูกเรียนด้วยแล้วช่วงนั้นค่อนข้างหนักมาก จนวันนี้ลูกทุกคนกลับมาช่วยงานเพราะเห็นว่าพ่อแม่แก่แล้วทำไม่ไหว ผมก็เริ่มที่จะเก็บโคสาวไว้เพิ่มขึ้นเพื่อขยายต่อไป” ลุงสุดใจเล่า
วันนี้จำปาฟาร์มมีทายาทรุ่นที่ 2 เข้ามาดูแลรับช่วงต่อ และเป็นช่วงที่สำคัญเพราะ 2 ลูกชาย และ 1 ลูกสาวกลายเป็นกำลังหลักที่จะมาพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการภายในฟาร์มให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยได้เข้ามาปรับเปลี่ยนนำเครื่องรีดนมโคมาใช้ได้ราว 3 ปีเพื่อให้ได้น้ำนมคุณภาพและทันเวลาในการจัดส่งน้ำนมมากขึ้น หรือขายลูกโคเพศผู้ให้สำหรับฟาร์มที่ต้องการ และยังสามารถผสมข้ามสายพันธุ์ที่มีน้ำนมเพิ่มขึ้นได้ และมูลโคที่เกิดขึ้นได้มีการบริหารจัดการให้เป็นระบบเพื่อขายต่อชัดเจน มีรายรับรายจ่ายที่แน่นอน ลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นตลอดกระบวนการผลิตทั้งหมด ทำให้รายได้ที่รั่วไหลจากระบบการดูแลที่ไม่รัดกุมกลับมาเหลือเป็นกอบเป็นกำยิ่งขึ้น
“แม่โคตัวไหนที่เริ่มให้น้ำนมน้อย ป่วยเป็นเต้านมอักเสบเรื้อรัง หรือมีความเสี่ยงในการแท้งลูกบ่อยเราก็จะขายออก เพราะมันจะเสียเวลาในการดูแลมาก ไม่คุ้มกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ลูกชายทั้งสองคนที่เข้ามาก็เข้ามาจัดระบบให้ชัดเจน เช่นโรงรีดนมก็แบ่งสัดส่วนให้สะดวกขึ้น พื้นที่ 25 ไร่ก็แบ่งสัดส่วนในการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช เพื่อให้มีอาหารเพียงพอสำหรับช่วงฤดูแล้ง ที่เมื่อก่อนผมทำกัน 2 คนตายาย ก็ทำไหวบ้างไม่ไหวบ้าง”
เมื่อถามถึงความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกรนั้น ลุงสุดใจพูดปนยิ้มว่า วันเริ่มต้นนั้นก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่าใครจะเป็นคนที่ดื่มนมวัว แต่มั่นใจอย่างหนึ่งว่า เมื่อเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว “โคนมอาชีพพระราชทาน” นับเป็นสายพระเนตรอันกว้างไกลของพระองค์ท่าน ที่พระราชทานอาชีพใหม่ให้แก่ประชาชนชาวไทย เพื่อให้มีความรู้ความสามารถ มีอาชีพที่เลี้ยงตนเอง และครอบครัวได้ แม้แต่จิตวิญญาณที่ตนมีคือ ลมหายใจของเกษตรกร ที่รับใช้แผ่นดินมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นพ่อ จึงเชื่อว่าการลงแรงเป็นเกษตรกรของตนคงเป็นการลงทุนที่ง่าย และถือว่าเป็นการรับใช้และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยชีวิตของการเป็นเกษตรกรคนหนึ่ง ซึ่งได้ทำอาชีพที่สุจริต มีรายได้ที่มั่นคง และดำรงชีวิตอยู่อย่างพอเพียง ก็สามารถนำพาครอบครัวให้มีชีวิตที่มีความสุขได้
“จำปาฟาร์ม” คือ ฟาร์มขนาดใหญ่ฟาร์มหนึ่งของพื้นที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี มีจำนวนโคนมสูงถึง 83 ตัว และจะเพิ่มเติมอีกแน่นอนเมื่อทายาทรุ่นที่ 2 เข้ามาบริหารจัดการ และยังเป็นฟาร์มยุคแรกที่ยังคงดำเนินการต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลา 50 ปี เพราะเกษตรกรที่ได้รับพระราชทานที่ดินในรุ่นแรกทั้ง 150 ครัวเรือนนั้นเหลือไม่ถึง 10 ครัวเรือนที่ทำต่อเนื่อง เพราะต่างก็แยกย้ายหรือเลิกทำอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกันไปแล้วตามวันเวลา และด้วยกระแสของทุนนิยมที่กำลังไหลเข้าสู่มวกเหล็ก ดินแดนคาวบอยแห่งเมืองไทย หากแต่ลุงสุดใจและป้าทองห่อยังยึดมั่นว่า “นี่คือโคนมอาชีพพระราชทาน” ที่สองตายายสามารถส่งต่อถึงมือลูกและหลานได้นั่นเอง
ที่มา : manager.co.th