กระเป๋าแฟนซี ผลิตภัณฑ์โอทอปของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมนตรี อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เป็นการนำผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้า ผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดราชบุรี มาตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระเป๋าอเนกประสงค์แฟนซี และที่ใส่กระดาษทิชชู โดยตัดเย็บออกมาในรูปของ เสื้อจิ๋ว กางเกงจิ๋ว และชุดกระโปรงจิ๋ว ฯลฯ
[center]
นายศักรินทร์ คงคา รองประธานกลุ่ม เล่าว่า ที่มาของแนวคิดดังกล่าว เกิดขึ้นมาจาก “นพรัตน์ คงคา” ประธานกลุ่ม ซึ่งได้พลิกผันตัวเองจากข้าราชการทหาร หันมาทำงานเพื่อชุมชนบ้านเกิดด้วยการก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมนตรีขึ้นมาเมื่อปี 2548 จุดเริ่มต้นมาจากกิจการทำตุ๊กตาติดผ้ายางโฟมปิดตัวลง ทำให้มีผ้ายางเหลือจำนวนมาก จึงได้มีแนวคิดว่านำผ้ายางที่เหลือมาทำเป็นกระเป๋า โดยการประดับตกแต่งใหม่ให้มีความสวยงาม และนำผ้าขาวม้า ซึ่งเป็นผ้าพื้นเมืองของจังหวัดราชบุรี มาตัดเย็บ และอาศัยที่ตนเองมีพื้นฐานด้านการเย็บผ้ามาก่อน ก็นำมาใช้กับการทำงานตรงนี้ และถ่ายทอดให้สมาชิกของกลุ่ม จึงได้เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งกลุ่มดังกล่าว
[center]
“สำหรับผ้าที่นำมาทำผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มาจากกลุ่มผู้ผลิตสินค้าพื้นเมืองของจังหวัดราชบุรี เช่น กลุ่มทอผ้าขาวม้า กลุ่มทำงานกะลามะพร้าว นำมาใช้เป็นของประดับตกแต่ง หรือกลุ่มทอผ้าฝ้าย เป็นต้น ส่วนรูปแบบ พัฒนาจากแนวคิดของกลุ่มสมาชิกช่วยกันคิดออกแบบ ใครมีไอเดียอะไรก็ใส่กันเต็มที่ อย่างล่าสุดผมได้ไปเห็นกางเกงเลที่นักท่องเที่ยวนิยมสวมใส่ไปเที่ยวชายทะเล เราก็นำมาย่อส่วนตัดเย็บออกมาเป็นกระเป๋ากางเกงจิ๋ว ได้รับความนิยมอย่างมากจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะฝรั่ง และกลุ่มนักท่องเที่ยววัยรุ่นคนไทย”
นอกจากนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการในหลากหลายกลุ่ม ได้มีการพัฒนารูปแบบโดยการนำผลิตภัณฑ์กางเกงยีนส์ที่ตกรุ่น และขายไม่ได้นำมารื้อและตัดเย็บใหม่เป็นชุดเสื้อผ้ายีนส์จิ๋วอเนกประสงค์ สำหรับในส่วนของงานผ้ายีนส์จะเน้นการออกแบบเพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นที่ชื่นชอบรูปแบบที่ทันสมัย ซึ่งยังคงรูปแบบของเสื้อ กางเกง และกระโปรงจิ๋วอยู่ ลักษณะการใช้งานยังคงเหมือนกับงานผ้าขาวม้า คือเป็นกระเป๋า และที่ใส่กระดาษทิชชู หรือใบเล็กออกแบบมาสำหรับใส่มือถือ อย่างไรก็ตาม รูปแบบดังกล่าวทางกลุ่มได้ทำมาประมาณ 5-6 ปี ส่วนการคิดรูปแบบใหม่ที่ฉีกไปจากแบบเดิมเลยนั้นจะคิดปีละครั้งเท่านั้น เพื่อส่งเข้าคัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์โอทอปประจำปี
สำหรับกลุ่มลูกค้า เนื่องจากทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมนตรีไม่ได้เน้นการมีหน้าร้าน หรือการนำสินค้ามาจำหน่ายปลีกเองตั้งแต่แรก ดังนั้น จึงทำการตลาดออกมาในรูปแบบของการขายส่งให้พ่อค้า คนกลางรับไปจำหน่ายอีกครั้งหนึ่ง โดยพ่อค้ารับจำหน่ายส่วนใหญ่จะกระจายสินค้าอยู่ตามจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะในแถบจังหวัดที่ติดกับทะเล ส่วนราคาจำหน่ายปลีกเริ่มต้นที่ 49 บาท ไปจนถึง 199 บาท ขึ้นอยู่กับรูปแบบและขนาด ส่วนพ่อค้าคนกลางจะซื้อในราคาที่ถูกกว่าจำหน่ายปลีกประมาณ 50% โดยต้องสั่งอย่างน้อย 100 ชิ้นขึ้นไป
ที่มา : manager.co.th