[center]

ทั้งนี้ สสว.จะเสนอให้ปรับฐานรายได้ของเอสเอ็มอีจากเดิมที่อยู่ที่ระดับ 30 ล้านบาท ขยายเป็น 100 ล้านบาท และมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งอัตราภาษีนิติบุคคลของเอสเอ็มอีที่ระดับ 15% ถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสม ไม่ทำลายฐานะทางการคลังของรัฐบาล และเป็นระดับที่เอกชนพึงพอใจ รวมทั้งยังมีกฎระเบียบในเรื่องการนำเงินปันผลจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ ที่ไทยมีการคิดภาษีซ้ำซ้อน ขณะที่สิงคโปร์และมาเลเซียยกเว้นการจัดเก็บภาษีดังกล่าว
นอกจากนี้จะเสนอการปรับแก้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมเอสเอ็มอีอื่นๆ เช่น การอนุญาตให้เอสเอ็มอีเข้าไปรับงานจากโครงการของรัฐบาล เพราะที่ผ่านมามีการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเข้าไปรับงานจากโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล แต่ด้วยกฎระเบียบที่เข้มงวด เช่น ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน มีสถานะการเงินที่ดี ทำให้เอสเอ็มอีไม่มีโอกาสที่จะเข้าไปทำงานดังกล่าวได้ หรือโครงการปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี แต่มีเงื่อนไขการปล่อยกู้ที่เข้มงวด เอสเอ็มอีก็เข้าไม่ถึงเช่นเดียวกัน
“กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคเหล่านี้สสว.จะนำเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไข เพราะรัฐบาลออกนโยบายส่งเสริมเอสเอ็มอีมาจำนวนมาก แต่ในทางปฏิบัติเอสเอ็มอีกลับไม่สามารถเข้าถึงโครงการดังกล่าวได้เพราะมีกฎระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวยโดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ปัจจุบันมีเอสเอ็มอีเพียง 30% ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งหมดที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวรวมทั้งผลการศึกษาสสว.จะนำเสนอคณะกรรมการบริหาร สสว.ที่มี นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ภายในเดือนมกราคม 2556” น.ส.อิสรา กล่าว
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ก็เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้เอสเอ็มอีไทยออกไปแข่งขันได้ในอาเซียน รวมถึงในประเทศ เพราะการปรับแก้ดังกล่าวได้นำไปเปรียบเทียบกับกฎหมายของประเทศต่างๆ ในอาเซียนแล้ว และเพื่อให้กฎระเบียบมีความทันสมัย เข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน
ที่มา : naewna.com