
โลจิสติกส์เอกชนไทยพร้อมรับเออีซี อัดเทคโนโลยี ไอที รอลุย ร่วมเป็นหุ้นส่วน ปรับตัวเป็นองค์กรที่มีความสุข ยันประสบการณ์สารพัดวิกฤติของไทย ทำแกร่งจนสู้ได้
การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งมีความกังวลต่อความพร้อมของผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ในขณะที่ผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยีและทุนที่เหนือกว่าจะรุกเข้ามานั้น น.ส.วัลภา สถิรชวาล ผอ.ฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท อีเกิ้ลส์ แอร์แอนด์ซี (ประเทศไทย) เลขาธิการสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย ทำธุรกิจให้บริการเขตปลอดอากร (free zone) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ การจองระวางเรือ ระวางขนส่งสินค้าทางอากาศ บริการขนส่งและกระจายสินค้า การขนส่งสินค้าผ่านแดน เปิดเผยว่า บริษัทและทางสมาพันธ์ได้เตรียมความพร้อมมาก่อนแล้ว โดยปรับระบบงานใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) เป็นเครื่องมือหลัก ใช้ซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมลดภาระงาน การสื่อสารของบริษัท ซึ่งมี 5 สาขาใช้เบอร์โทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต เพียงหมายเลขเดียว พนักงานใช้เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กในการสื่อสารข้อมูลระหว่างกัน เชื่อมโยงระบบบัญชี รถขนสินค้า ใช้ระบบจีพีเอส ที่ติดตามการเดินทางได้ ในกรณีเหตุฉุกเฉิน ก็เปลี่ยนไปทำงานสาขาอื่นได้ทันทีโดยไม่ขาดตอน ที่ผ่านมา ในประเทศมีเหตุวิกฤติหลายครั้งทำให้เรามีประสบการณ์เพื่อรับมือเหตุไม่คาดฝันตลอดเวลา
น.ส.วัลภากล่าวว่า บริษัทกำหนดจุดแข็ง มีเครือข่ายและการลงทุนต่างประเทศ ได้แก่ที่ประเทศสิงคโปร์ซึ่งไปลงทุนสร้างแบรนด์เอง ที่สหภาพพม่าได้ร่วมทุนกับนักธุรกิจท้องถิ่น และมีเครือข่ายที่ประเทศจีน ได้จัดหานวัตกรรมบริการใหม่สำหรับลูกค้า ด้วยบริการครอบคลุมหลายด้าน เช่นมีเขตปลอดอากร การมีเครือข่ายให้บริการทั่วโลก
“เมื่อเปิดเออีซี ไทยจะเป็นแหล่งที่กิจการโลจิสติกส์จากหลายชาติเข้ามา แต่ก็ต้องมาเลือกผู้ประกอบการไทยที่มีความพร้อมเป็นคู่ค้าหรือเป็นหุ้นส่วน การเตรียมตัวของเราก็เพื่อพร้อมรับการเป็นพันธมิตรกับต่างชาติ หรือถ้าจะเป็นคู่แข่งเราก็พร้อมเพราะถึงอย่างไร เราก็มีความชำนาญพื้นที่มากกว่า ทางสมาพันธ์ก็พยายามสร้างความเข้าใจว่า การแข่งขันในอนาคต ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีบริการครบวงจร มีความเร็ว มีเครือข่าย ไม่ใช่ทำแบบพื้น ๆ”
น.ส.วัลภากล่าวอีกว่า นอกจากพัฒนาระบบ ยังเข้าร่วมโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ปรับวิสัยทัศน์ ให้พนักงานที่มีอยู่พัฒนาศักยภาพ ปรับโครงสร้างการทำงานในองค์กร นอกจากนี้ยังเข้าร่วมเป็นหนึ่งในองค์กรสุขภาวะ ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนเศรษฐกิจ กำหนดให้มีกล่องแห่งความสุข 8 ประการ หรือแฮปปี้ 8 เมนู ประกอบด้วย 1. แฮปปี้บอดี้ (สุขภาพดี) 2. แฮปปี้ เฮลธ์ (น้ำใจงาม) 3.แฮปปี้ รีแลกซ์ (การผ่อนคลาย) 4. แฮปปี้ เบรน (หาความรู้) 5. แฮปปี้ โซล (มีคุณธรรม) 6. แฮปปี้ มันนี่ (บริหารการเงิน) 7. แฮปปี้ แฟมิลี (ครอบครัวดี) และ 8. แฮปปี้ โซไซตี้ (สังคมดี).
วิกฤติช่วยให้แกร่ง
วัลภา สถิรชวาล ผู้บริหารสาวของอีเกิ้ลส์ แอร์แอนด์ซี (ประเทศไทย) บอกว่า การทำโลจิสติกส์ จึงมีบทบาทช่วยผู้ประสบภัยช่วงน้ำท่วม ทั้งบริการลูกค้าและบริการสังคม ตลอดจนดูแลพนักงาน โดยสำนักงานที่ถนนร่มเกล้า ลาดกระบัง ก็ช่วยลูกค้าขนข้าวของหนีจนเสร็จ จึงโบกปูนกันน้ำรอบสำนักงาน ใช้สำนักงานทำแทน ส่งของให้ลูกค้าไปผลิตที่ประเทศมาเลเซียก็มี พนักงานของเราบางส่วนกระจายไปทำงานสาขาอื่น บางส่วนออกจากบ้านไม่ได้ เราก็เอาเครื่องกรองน้ำและสิ่งของไปช่วย ที่เป็นแรงงานไปช่วยกรอกกระสอบทรายก็มี คนที่ทำงานก็เช่าห้องพักใกล้สำนักงานให้อยู่
“สำนักงานที่ย่านสะพานใหม่ ดอนเมือง ถูกน้ำท่วมวันที่ 19 ต.ค. ก็ย้ายไปทำงานที่สาขาอื่น เราป้องกันระบบไอทีย้ายเซิร์ฟเวอร์ไปไว้ที่ไอเน็ต (บ.อินเทอร์เน็ตประเทศไทย) ใช้ระบบโทรศัพท์อินเทอร์เน็ตในการสื่อสาร ช่วงนั้นเราทำเนื้องานได้เกือบ 150% ที่ภูมิใจ คือช่วยลูกค้าขนของจาก อ.บางปะอิน ออกมา เปิดคลังสินค้าที่สนามบินสุวรรณภูมิได้ภายใน 1 วัน ขนของ 3 พัน พาเลต เราออกจากนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ เป็นเที่ยวสุดท้าย ก่อนตัดไฟ น้ำท่วมมิดล้อแล้ว ต้องขอบคุณน้อง ๆ พนักงานที่ช่วยกัน แต่อีกส่วนเป็นเพราะเราตื่นตัวกับภัย ที่ผ่านมาเราเจอกับอุบัติภัย การชุมนุม เหตุจลาจลทางการเมือง เอาประสบการณ์ที่เคยเห็นตั้งแต่ปี 2535 วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 มาปรับ ในช่วงที่ห่วงกันว่าปี 2555 จะท่วมอีกรอบหรือไม่ เราวางแผนโดยสมมุติสถานการณ์ว่าไฟฟ้าดับทั่วกรุงเทพฯ ติดต่อกัน เราต้องอยู่ได้ถึง 10 วัน เราเตรียมกระทั่งเตาแก๊ส เสื่อ ไฟฉาย เครื่องกรองน้ำ พร้อมที่พักพนักงาน
ที่มา : dailynews.co.th