
“ในอนาคตผมอยากเห็นบางจาก 100 ปี อยากเห็นบางจากโต ไม่อยากเห็นบางจากหดตัว และบางจากต้องเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติแห่งที่ 2 ที่ทำธุรกิจได้หลากหลายรูปแบบ” เป็นประโยคที่ “อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล” กรรมการผู้จัดการ บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้เปิดใจไว้ในช่วงที่พาสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพ ที่เกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 1-6 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายก่อนครบวาระ 8 ปี ในวันที่ 31 ธ.ค.นี้
ใครจะเชื่อว่าบริษัทน้ำมันแห่งนี้จากที่เคยจะล้มละลายในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 แต่มาจนถึงวันนี้กลับกลายเป็นบริษัทที่มียอดขายน้ำมันในประเทศมากเป็นอันดับสามของประเทศ รองจากปตท.และเอสโซ่ ด้วยยอดขายถึง 170,000 ล้านบาท และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (อีบิทด้า) 7,300 ล้านบาท แถมยังคาดการณ์ไว้อีกว่าในปีหน้าจะเพิ่มเป็น 9,000-10,000 ล้านบาททีเดียว ขณะที่ราคาหุ้นก็ขยับเพิ่มเป็น 29 บาทจากที่เคยอยู่ที่ระดับหุ้นละ 3 บาท แถมยังได้รับการจัดอันดับในระดับ “เอ-ลบ” และปีหน้ามั่นใจว่าจะขึ้นมาอยู่ในระดับ “เอ” สะท้อนให้เห็นถึงฐานะของบริษัทที่แข็งแกร่ง
ต้องถือว่าผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาได้พิสูจน์ฝีมือการทำงาน “ลูกหม้อ” อย่าง “อนุสรณ์” ตลอดเวลาทั้ง 27 ปี ได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันยังวางเป้าหมายไว้อีกด้วยว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าจากนี้อีบิทด้าของบางจากฯ ต้องเพิ่มเป็น 13,000 ล้านบาท พร้อมทั้งต้องขยับเป็นบริษัทน้ำมันอันดับสองของประเทศโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดน้ำมัน 16% จากปัจจุบันที่ 14.7% และที่สำคัญบางจากยังต้องเป็นธุรกิจที่ “แบ่งปัน” เพื่อชุมชนและสังคม รวมทั้งการดูแลสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้การที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายที่ว่า… ได้นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่บางจากฯ ต้องเร่งพัฒนาตัวเองในทุก ๆ ด้านทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพของโรงกลั่น การพัฒนาด้านการตลาด หรือแม้แต่การขยายไปยังธุรกิจอื่นเพื่อลดความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่ผันผวนอยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญบางจากฯ ต้องให้ความสำคัญกับการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันแห่งที่ 2 เพื่อรองรับกับความต้องการใช้น้ำมันในอนาคตในอีก 5-10 ปี ข้างหน้าโดยเฉพาะตลาดของบางจากฯ เอง
ต้องยอมรับว่าที่ตั้งของโรงกลั่นบางจากฯ ในเวลานี้ คงไม่สามารถขยายโรงกลั่นเพิ่มขึ้นได้เพราะไม่มีพื้นที่ ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันหรือตลาดน้ำมันของประเทศนั้นเติบโตมากถึงปีละ 3-4% ขณะที่ตลาดของบางจากฯ เองเติบโตเฉลี่ยปีละ 5% เมื่อเทียบกับกำลังการกลั่นในปัจจุบันนั้นย่อมไม่เพียงพอแน่นอน และถ้าต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศคงไม่ใช่เรื่องที่ดี
แต่การสร้างโรงกลั่นน้ำมันถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ รวมถึงนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาล ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำเรื่องนี้มาคิดมาตัดสินใจให้รอบคอบ อย่างไรก็ดีการสร้างโรงกลั่นในประเทศย่อมทำให้ประเทศมีการพัฒนานั่นหมายความว่าจะทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย แม้ว่าการลงทุนต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลแต่เชื่อว่าพันธมิตรอย่างญี่ปุ่นและจีน ก็พร้อมเข้ามาเป็นพันธมิตรกับไทยโดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ต้องการเข้ามาลงทุนในอาเซียนอยู่แล้ว
นอกจากนี้บางจากฯ ต้องกลายเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติแห่งที่ 2 ที่สามารถลงทุนทำธุรกิจได้หลายรูปแบบ ทั้งโรงกลั่นน้ำมัน สถานีบริการน้ำมัน โรงไฟฟ้า โรงงานปิโตรเคมี หรือธุรกิจอื่นที่ต่อเนื่อง เพื่อให้ธุรกิจของคนไทยแท้ ๆ เดินหน้าได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคงต่อไป เพราะต้องยอมรับว่าราคาน้ำมันทุกวันนี้ยังมีความผันผวนไม่จบไม่สิ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหารายได้จากทางอื่นเข้ามารองรับด้วยซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ว่าในอนาคตจากนี้อีก 5 ปี รายได้จากธุรกิจน้ำมันจะลดลงเหลือ 50% จากที่ปัจจุบันมีสัดส่วนสูงถึง 80%
ปัจจุบันบางจากได้เดินหน้าในเรื่องนี้และเน้นในเรื่องของการส่งเสริมธุรกิจพลังงานทดแทนทั้งในโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ที่ตั้งเป้าหมายผลิตติดตั้งทั้งหมด 170 เมกะวัตต์ที่ได้เดินหน้า เฟส 1 ไปแล้วคงเหลือเฟส 2 และเฟส 3 ที่ต้องทำต่อเนื่องต่อไป หรือโครงการผลิตเอทานอล ที่ได้เน้นในเรื่องของอี 85 โครงการผลิตไบโอดีเซล และโครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมที่ตั้งใจจะดำเนินการขนาด 60-80 เมกะวัตต์ และเตรียมเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาเห็นชอบหลังจากที่ได้ศึกษาในรายละเอียดมาแล้วถึง 2 ปี
ส่วนพลังงานทดแทนอื่น ๆ อย่างเช่นพลังงานความร้อนใต้พิภพที่บางจากฯ ได้พาคณะสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมกระบวนการผลิตทั้งหมดที่ โรงไฟฟ้าโมริ จีโอ เทอมอล ที่เมืองฮาโกนาเตะ เกาะฮอกไกโด ที่ประเทศญี่ปุ่น ขนาด 50 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็น 1 ใน 18 แห่งของโรงไฟฟ้าประเภทนี้ในประเทศญี่ปุ่นที่มีกำลังการผลิตรวมกันทั้งหมดราว 500 เมกะวัตต์ โดยมีอายุราว 30 ปีเพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับคนในประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้หลักการของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพนี้คล้าย ๆ กับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนโดยทั่วไปที่นำน้ำมันเชื้อเพลิงมาต้มน้ำให้เดือดกลายเป็นไอน้ำและนำไอน้ำไปปั่นเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งแทนที่จะใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาให้ความร้อน โรงไฟฟ้าความร้อนใต้พิภพนี้จะใช้ความร้อนใต้พิภพมาเป็นตัวให้ความร้อนมาต้มน้ำให้เดือดกลายเป็นไอน้ำแทน
แต่โรงไฟฟ้าประเภทนี้ต้องลงทุนสูง เพราะเป็นความท้าทายในเชิงวิศวกรรมที่ต้องขุดเจาะวางท่อลำเลียงน้ำร้อนหรือไอน้ำขึ้นมาจากใต้ดินเพื่อมาผลิตไฟฟ้าและส่งน้ำที่ใช้แล้วกลับสู่ใต้พื้นดินผ่านท่อลำเลียงกลับ โดยต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าประเภทนี้จะสูงถึง 7 บาทเศษต่อหน่วยซึ่งสูงกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาก แถมศักยภาพในการผลิตต้องขึ้นอยู่กับอุณหภูมิความร้อนใต้พิภพด้วย
แม้มีความเป็นไปได้น้อยที่จะเกิดโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพขึ้นในเมืองไทยเพราะภูมิประเทศไม่เอื้อนั้น แต่ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในอนาคตที่อาจออกไปลงทุนในพื้นที่ที่เหมาะสมเช่นที่อินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์ เป็นต้น เพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนหรือเออีซี แต่ในปัจจุบันที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ก็มีโรงไฟฟ้าเช่นนี้อยู่เหมือนกันเพราะติดอยู่กับบ่อน้ำร้อนฝางซึ่งเป็นแหล่ง
พลังงานความร้อนใต้พิภพ โดยมีกำลังการผลิต 0.3 เมกะวัตต์
ไม่เพียงเท่านี้บางจากฯ ยังเตรียมขยายไปในธุรกิจอาหาร ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต่อเนื่องจากพลังงานและยังเป็นความมั่นคงของประเทศที่เตรียมเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาเห็นชอบและเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้แน่นอน ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินแร่หรือทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมืองทองคำ หรือเหมืองแร่ ก็เป็นธุรกิจที่อยู่ในความสนใจ
แผนงานต่าง ๆ เหล่านี้คงต้องรอให้คนที่เข้ามารับไม้ต่ออย่าง “วิเชียร อุษณาโชติ” ที่ถือว่าเป็นลูกหม้อคนสำคัญของบางจากฯ เดินหน้าต่อเพื่อสานฝันไปให้ถึงจุดหมาย.
ที่มา : dailynews.co.th