หน้า 1 จากทั้งหมด 1

การจดทะเบียนนิติบุคคล ว่าจดห้างหรือบริษัทดี

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. 30 ต.ค. 2014 4:37 pm
โดย openerp_docman
เรื่องการจดทะเบียนนิติบุคคล ว่าจดห้างหรือบริษัทดี
พิจารณษ จากเรื่องกิจการและความสัมพันธ์ของผู้ลงทุน ให้ดูว่ากิจการหรือโนฮาวเป็นของใคร เจ้าของหวงมากหรือไม่อย่างไร และหากผู้ลงทุนเป็นญาติๆกันควรจดห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลดีกว่าจดเป็นบริษัท กิจการที่ล้มเหลวส่วนใหญ่หาใช่เรื่องเกี่ยวกับกิจการแต่ปัญหามักมากจากตัวบุคคลมากว่า ส่วนกฎหมายที่มีอยู่ท่านอย่าหวังไปพึ่งพา ส่วนใหญ่กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ไปแล้วทั้งสิ้นเสียเวลาเปล่าๆ

ต่อไปคือเรื่องการบริหารและภาษี เช่นกันมักเกิดปัญหาและเมื่อเกิดปัญหาแล้วนิติบุคคลนั้นๆมักไปไม่รอด ก่อนการลงทุนเมื่อพิจารณาข้อแรกไปแล้ว ผู้ลงทุนต้องมาตกลงกันไว้ก่อนหัวข้อที่สำคัญมากๆ คือ
1.การจัดองค์กร
2.บุคลากร
3. การเสียภาษี
4.กฎหมายที่เกี่ยวข้องและการประชุม
ทั้งสี่หัวข้อนี้แน่นอนหากไม่คุยกันก่อนแล้วปล่อยให้เนิ่นนานมากๆรับประกันได้ว่ายากที่จะให้กิจการเป็นไปอย่างราบรื่น เรามาว่ากันเลยนะว่าแต่ละหัวข้อต้องทำอย่างไร

การจัดองค์กร แบ่งย่อยเป็นฝ่ายบริหาร และฝ่ายตรวจสอบและประเมินผล ต่างฝ่ายต่างต้องทำหน้าที่อย่าละเลยให้เกิดช่องทางทุจริตเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่การจับเท็จ จับผิด ก่อนการลงทุนเมื่อเราทำความเข้าใจเรื่องนี้แล้วทุกคนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น รู้หน้าที่ความหวาดระแวงจะหมดไป แต่จะเกิดพลังสร้างสรรค์โดยเราไม่ได้ตั้งใจ

บุคลากร เช่นกันต้องพูดจากันให้สามารถตกลงกันได้ ผู้ลงทุนจะลงมือปฏิบัติการเองหรือจ้างมือบริหารมาจัดการแทน เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่

การเสียภาษี หัวข้อนี้ยิ่งสำคัญ ต้องทำความตกลงให้ชัดเจนนะครับว่าบัญชีจะจัดทำไว้ชุดเดียวหรือสองชุด แน่นอนหากสอบถามไปยังผู้บริหารมักจะตอบว่าบัญชีมีชุดเดียว แต่ความจริงเรื่องนี้มักเกิดปัญหาขึ้นมาก เช่น การหลบเลี่ยงภาษีจะทำให้นิติบุคคลมีกำไรสุทธิลดลง หากมีปัญหาอื่นใดมากระทบเช่นความไม่โปร่งใสของการบริหารงาน นิติบุคคลนั้นๆก็มักจะเกิดกรณีพิพาทขึ้นได้โดยง่าย การลงทุน ลงแรงของเราก็จะเสียเปล่า และอาจเสียเพื่อนอีกด้วย

เรื่องสุดท้ายคือเรื่อง กฎหมายที่เกี่ยวข้องและการประชุม การจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท เป็นสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะได้จากกิจการนั้น หากการตกลงผิดแผกแตกต่างไปจากที่กล่าวมานี้นั้นไม่ใช่สัญญาเพื่อการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ซึ่งกฎหมายการจดทะเบียนไว้สามประเภท คือ ห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด ความแตกต่างของแต่ละประเภทมันชัดเจนในตัว คือ ห้างหุ้นส่วนสามัญใครเป็นหุ้นเข้าต้องรับผิดต่อทรัพย์สินและหนี้สินเท่าๆกัน ส่วนห้างหุ้นส่วนจำกัด มีหุ้นส่วนสองจำพวกคือ พวกจำกัดความรับผิด และไม่จำกัดความรับผิด สุดท้ายบริษัทจำกัด คือผู้ถือหุ้นจำกัดความรับผิดเท่าจำนวนมูลค่าที่ตนถือครองหุ้นอยู่นั้นเอง

ส่วนเรื่องการประชุม ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่สำคัญ ผู้ลงทุนมักจะละเลยข้อนี้ การประชุมจะช่วยให้ผู้ลงทุนได้สอบถาม ไต่สวน ประเมินผล กันในที่ประชุมทำให้สามารถเข้าใจกันได้ป้องกันความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนในเนื้อความ และสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้โดยง่าย

เอาละครับเงื่อนไขที่กล่าวมาครบถ้วนแล้ว แต่ท่านอย่าเพิ่งนึกตำหนินะครับว่าจะตกลงกันไปทำไมเมื่อยังไม่ลงทุน แน่นอนหัวข้อเหล่านี้เป็นเรื่องยากที่จะตกลงกันได้โดยง่าย แต่ก็ไม่ยาก ผู้ลงทุนจะล่วงรู้และเข้าใจถึงกิจการพร้อมสามารถตัดสินใจได้ว่าจะร่วมลงทุนจำนวนมากน้อยเพียงใด อีกทั้งสามารถตัดสินใจทุ่มเงินที่ออมไว้มานานได้หรือไม่

ส่วนที่นำเสนอมาทั้งหมดนั้นจะช่วยให้ท่านตัดสินใจได้ว่าจะสามารถจดห้างหรือบริษัทดี หากท่านไม่สามารถทำตามเงื่อนดังกล่าวมาได้อย่างสมบูรณ์ ขอแนะนำให้จดห้างฯดีกว่าจดบริษัทจำกัด เงื่อนไขแต่เรื่องที่เสนอมานั้นหากไม่ดำเนินการและปล่อยไว้จะก่อให้เกิดปัญหาจนถึงขนาดต้องเลิกกิจการกันเลย และหากเมื่อตกลงกันได้ต้องทำเป็นหนังสือไว้เพื่อการตรวจสอบความถูกต้องต่อไป

จบเรื่องจดห้างหรือบริษัทดี ก่อนจากกันในตอนนี้ขอฝากไว้ว่าเรื่องภาษีต้องทำความตกลงกันไว้ให้ดีๆ อาจทำให้ท่านผู้ลงทุนต้องติดคุกได้เหมือนอย่างคดีที่เป็นข่าวครึกครื้นทั้งบ้านทั้งเมือง ซึ่งจะไม่เป็นข่าวได้อย่างไร ท่านผู้อ่านเคยไหมละครับที่ผู้เลี่ยงภาษีจะติดคุก คดีนี้เป็นตัวอย่าง แม้นยังไม่ถึงที่สุดก็ตามแต่ก็น่าหวาดระแวงนะครับ มันเป็นอีกแง่มุมหนึ่งของผมนะครับที่ท่านอาจจะสะใจจนลืมคำนึงถึงความเป็นจริง ขอบคุณครับแล้วค่อยพบกันใหม่

ทนายอำพล รัตนมูสิก