โพสต์ โดย Yamachita » จันทร์ 29 เม.ย. 2013 10:36 am
หลังจากสารพัดปัจจัยเสี่ยงเข้ามารุมเร้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ทั้งผลกระทบค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ การแข็งค่าเงินบาท วัตถุดิบราคาแพง การขาดแคลนแรงงาน และอื่น ๆ อีกมากมาย ได้สร้างความปั่นป่วนให้แก่ธุรกิจอย่างหนัก จนบรรดาเถ้าแก่ต้องออกอาการกินไม่ได้ นอนไม่หลับ บางรายถึงกับตกขบวนปิดกิจการไปก็มีวิบากกรรมที่เจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีไทยประสบพบเจอช่วงนี้คงหนีไม่พ้นคำว่า “เจ๊ง” กับ “เจ๊ง” หากโรงงานใดรับคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) ในการผลิตสินค้าต้องจำใจยอมรับการขาดทุนจากต้นทุนพุ่ง แต่ขายได้ราคาต่ำ เพราะยิ่งผลิตมากยิ่งเข้าเนื้อตัวเอง แต่หากปฏิเสธออร์เดอร์ เพื่อประคองธุรกิจให้พ้นช่วงนี้ไปก่อนก็หนีไม่พ้นกับคำว่าเจ๊งเต็มตัวมากขึ้น เพราะไม่มีเงินมาหมุนสภาพคล่องที่เป็นค่าใช้จ่าย
ดังนั้นจึงไม่แปลก...ที่เห็นผู้ประกอบการไทยแต่ละรายต้องนั่งหน้านิ่วคิ้วขมวด เพราะมัวแต่นั่งคิดนอนคิดหาวิธีประคองกิจการให้พ้นช่วงนี้ไปก่อน จนกว่าเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น หรือจนกว่าค่าเงินบาทจะอ่อนตัวลง เพราะหากถึงเวลานั้นจริง ๆ ผู้ประกอบการไทยคงสามารถปรับราคาสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุนได้
แนวทางการดิ้นรนส่วนใหญ่คงต้องหาเงินทุนหมุน เวียนเพื่อเป็นค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และอีกสารพัดจิปาถะ แต่ปัญหาหลัก! คือ เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้มากนัก บางรายไม่รู้จะนำหลักทรัพย์อะไรมาค้ำประกันอีกแล้ว เพราะสินทรัพย์เกือบทั้งหมดเอาไปจำนำ จำนอง แล้ว
สุดท้ายการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องสภาพคล่อง ต้องใช้วิธียืมเงินจากญาติพี่น้อง, กู้เงินนอกระบบ, ขายลดเช็ค หรือแม้แต่การขายทองคำและทรัพย์สินอื่น ๆ แต่ก็ดันโชคไม่ดีอีกเพราะตอนนี้ราคาทองคำก็ต่ำลงมาก ขณะที่บางรายถึงขนาดต้องรวมกลุ่มกันตั้งวงเงินแชร์กัน บางรายเล่นแชร์หลายมือ มือละเป็นแสนเป็นล้านบาท และหลายวง เพื่อที่จะลุ้นได้เงินมือแรก แม้การเล่นแชร์จะมีความเสี่ยงบ้างในกรณีที่ผู้ที่ได้รับเงินมือแรกจะชิ่งหนี แต่แนวทางนี้ต้องยอมรับว่า...เป็นแนวทางการระดมทุนแบบ ’ไทย ๆ“ ที่เอสเอ็มอีต้องดิ้นรนหาเงิน
วิกฤติหนัก...ของเอสเอ็มอีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ผลกระทบค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันที่รัฐบาลนำร่อง 7 จังหวัดเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 55 ประกอบด้วย จ. ภูเก็ต เดิมมีค่าจ้าง 221 บาทต่อวัน, กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, ปทุมธานี และนครปฐม เดิมวันละ 215 บาท เป็นวันละ 300 บาท ส่วนที่เหลืออีก 70 จังหวัดปรับเพิ่มค่าจ้างเฉลี่ยที่ 40%
ลอตที่ 2 เป็นเรื่องของการปรับค่าจ้างในจังหวัดที่เหลืออีก 70 จังหวัดมาเป็น 300 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 56 และตามด้วยการแข็งค่าของเงินบาทไทยจาก 30 บาทเศษต่อดอลลาร์สหรัฐ เหลือเพียง 28 บาทเศษ ต่อดอลลาร์สหรัฐ
สภาพเช่นนี้! ต้องเรียกว่า...“น่าเห็นใจ” โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ใช้วัตถุดิบในไทย 100% มีการใช้แรงงานเข้มข้น แถมเน้นการส่งออกไปต่างประเทศเป็นหลัก
อย่างไรก็ตามหากประเมินผลกระทบเรื่องของการขึ้นค่าจ้างนำร่อง 7 จังหวัด ต้องยอมรับว่ากิจการเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการรับมือกับค่าจ้าง 300 บาทต่อวันได้อยู่แล้ว เพราะหลายรายคงให้เกิน 300 บาท และที่สำคัญโรงงานอยู่ไม่ไกลจากเส้นทางระบบโลจิสติกส์
ช่วงแรกแม้เอสเอ็มอีใน 7 จังหวัดนำร่องได้เกิดอาการ “ช็อก” กันบ้างกับต้นทุนการผลิตเพิ่มเฉลี่ย 16-17% เพราะจำนวนมากยังไม่มีแผนรับมือมากนัก เนื่องจากคิดไม่ถึงว่ารัฐบาลจะกล้าปรับขึ้นค่าจ้างหลังจากที่ปลายปี 54 ไทยต้องประสบปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมได้รับความสูญเสียนับมูลค่าหลายแสนล้านบาท
หลังจากตั้งตัวได้เอสเอ็มอีส่วนหนึ่งได้ปรับตัวโดยเลือกที่จะปรับขึ้นราคาสินค้าในระดับหนึ่งก่อน แต่สภาพการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงและผู้ประกอบการรายใหญ่ยังไม่มีการปรับราคาสินค้าทำให้แนวทางดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ สุดท้ายหลายรายกลับมาขายที่ราคาเท่าเดิม
จากนั้นหันมาใช้แนวทางในการเข้มงวดกับการทำงานของแรงงานมาก เพื่อให้แรงงานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นซึ่งแรงงาน 1 คน ต้องทำงานหลายอย่าง ซึ่งวิธีนี้ค่อนข้างประสบความสำเร็จ รวมถึงการเปลี่ยนจากการทำงานในสถานประกอบการ มาเป็นการรับช่วงทำงานโดยเหมาจ่ายเป็นรายชิ้น เพราะเจ้าของกิจการไม่ต้องไปวุ่นวายกับเรื่องของสวัสดิการ
ส่วนผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศต้องยอมรับว่า เอสเอ็มอีภาพรวมจะประสบความเดือดร้อนมากเป็นเท่าตัว เพราะศักยภาพเอสเอ็มอีภูธรและเอส
เอ็มอีเมืองหลวงและบริเวณใกล้เคียง แตกต่างกันทั้งศักยภาพผู้ประกอบการ ศักยภาพของแรงงาน รวมถึงใกล้ระบบโลจิสติกส์ และค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะน้อยกว่าในต่างจังหวัด
เมื่อขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวันทั่วประเทศไปแล้วประมาณ 4 เดือน พบว่าปัญหาอันดับ 1 ที่เอสเอ็มอีต้องประสบคือ ขาดทุนการทำธุรกิจไปแล้ว รองลงมาเป็นเรื่องของการขาดแคลนสภาพคล่อง โดยผลของค่าแรงที่เพิ่มทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10-15% แต่ส่วนใหญ่ไม่สามารถปรับราคาให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มได้ จึงจำเป็นต้องมีการขายสินค้าที่ต่ำกว่าต้นทุน
แต่ที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องดิ้นรนไม่ยอมปิดกิจการ เพราะต้องการประคองโรงงานให้ผ่านช่วงนี้ไปก่อน อย่างน้อยก็ครึ่งปีหลังของปี 56 เผื่อมีปาฏิหาริย์เข้ามาช่วย
อย่างไรก็ตามเท่าที่มีการประเมินธุรกิจเอสเอ็มอี แม้จะขาดทุนแต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีการปิดกิจการ และไม่ต้องการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน เพราะการดำเนินการทั้งสองอย่างในช่วงนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการปิดกิจการที่บางแห่งได้ก่อตั้งกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า จึงไม่มีใครอยากให้ธุรกิจต้องเจ๊งไปในรุ่นของตัวเอง
ส่วนการย้ายฐานการผลิตก็เช่นกัน...เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่ชินกับการลงทุนเมืองนอก และที่สำคัญเรื่องของเงินทุนที่เป็นปัญหาใหญ่ ไม่รู้ว่าจะนำเงินมาจากที่ใดไปลงทุนยกเว้นรายใหญ่ หรือเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพและมีความพร้อมอย่างแท้จริง ที่สามารถหนีไปตั้งโรงงานในประเทศเพื่อนบ้านได้
ขณะที่ผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ได้ประเมินกันว่าหากค่าเงินบาทเฉลี่ยในปีนี้อยู่ที่ 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องสูญเสียรายได้จากการส่งออกไม่ต่ำกว่า 380,000 ล้านบาท กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน รายได้หายไปกว่า 200,000 ล้านบาท, ยานยนต์และชิ้นส่วนรายได้หายไปกว่า 55,000 ล้านบาท, อัญมณีและเครื่องประดับรายได้หายไปกว่า 47,000 ล้านบาท เป็นต้น
แต่ปัญหาหลักที่เอสเอ็มอีต้องประสบ คือ ลูกค้าในต่างประเทศไม่ยอมให้มีการปรับขึ้นราคาสินค้าเพราะเหตุผลของค่าเงินบาทแข็งตัวนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะตอนค่าเงินบาทอ่อนผู้ผลิตไทยยังไม่ลดราคาสินค้าให้กับลูกค้าเลย
ขณะเดียวกันต้องพบกับปัญหาที่คู่แข่งบางประเทศที่ไม่มีปัญหาเรื่องค่าเงิน กลับ “ดั๊มพ์ราคาตลาด” ลงอีก ยิ่งทำให้ผู้ผลิตเดือดร้อนหนักเท่าตัว ส่งผลให้ลูกค้าต่างประเทศบางรายต้องหันไปซื้อสินค้าที่ราคาถูกกว่า เพราะหากผู้ประกอบการไทยดั๊มพ์ราคาลงมาด้วยรับรองได้เลยว่า...ยิ่งเจ๊งเร็วขึ้น
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงแค่บททดสอบเบื้องต้นของธุรกิจเอสเอ็มอีไทยกว่า 2.8 ล้านราย แต่สิ่งสำคัญที่รออยู่ข้างหน้า คือ ตลาด 600 ล้านราย จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 58 ที่สินค้าจากทุนข้ามชาติคงไหลทะลักเข้ามาตีสินค้าไทย ดังนั้นทั้งภาครัฐและเอกชน...จำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีให้เข้มแข็งให้ได้...
ที่มา : [urlx=http://www.dailynews.co.th/]www.dailynews.co.th[/urlx]