โพสต์ โดย Yamachita » พุธ 27 มี.ค. 2013 10:34 am
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงบทวิเคราะห์ 3 ปี การค้า และการลงทุนภายใต้ประคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)ว่า ตั้งแต่ปี 53 ที่ทยอยเปิดเออีซีมา บทบาทการค้า การลงทุนไทยในอาเซียน ยังคงไร้ทิศทาง และกำลังตกสู่สถานะตกต่ำ เนื่องจากมูลค่าการส่งออกของไทยลดลง และสินค้าส่งออกสำคัญของไทย อย่าง ยางพารา และข้าวสารกลายเป็นอุตสาหกรรมดาวร่วง ถูกเวียดนาม และพม่าแย่งส่วนแบ่งตลาดไปมาก
นอกจากนี้ มันสำปะหลัง ยังถูกกัมพูชาแย่งกลับเป็นประเทศที่ส่งออกได้สูงสุดในอาเซียน แต่ไทยมีสินค้าภาคอุตสาหกรรมที่ส่งออกได้เติบโตดีและมีความโดดเด่น คือ ยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ถ่านหิน ผักและผลไม้ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ น้ำตาล เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง เหล็ก และผลิตภัณฑ์จากเหล็ก เครื่องดื่มยาสูบ ดังนั้นไทยจึงต้องปรับตัว และหาแนวทางในการเพิ่มการส่งออกสินค้าที่ไทย โดยเฉพาะสินค้าภาคเกษตรที่ส่งออกได้น้อยให้กลับมาเพิ่มเหมือนเดิม
“สินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นดาวร่วง คือ ข้าว ส่วนแบ่งตลาดไทยลดลง 10.41% ขณะที่เวียดนามเพิ่มขึ้น 6.68% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทยลดลง 0.04% ขณะที่กัมพูชาเพิ่มขึ้น 20.10% ยางพาราไทยลดลง 2.91% แต่เวียดนามเพิ่มขึ้น 10.73% อาหารทะเลแปรรูปไทยลดลง 0.19% อินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 4.89% สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยลดลง 2.27% สิงคโปร์เพิ่มขึ้น 2.38% ผลิตภัณฑ์ไม้ไทยลดลง 0.29% แต่พม่าเพิ่มขึ้น 1.84% ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ ไทยลดลง 4.44% สิงคโปร์เพิ่มขึ้น 9.67% ผลิตภัณฑ์พลาสติก ไทยลดลง 0.70% สิงคโปร์เพิ่มขึ้น 1.01%”
ส่วนการลงทุนช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การลงทุนจากต่างชาติ (เอฟดีไอ) สิงคโปร์ยังคงเป็นอันดับ 1 ด้วยมูลค่าการลวทุน 167,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย 51,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมาเลเซียมีเม็ดเงินลงทุน 31,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนไทยอยู่ที่ 4 มีเม็ดเงินทุนเข้ามาเป็นอันดับ มูลค่า 27,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่แนวโน้มการลงทุนในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี คือ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนามเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนาม และเมียนมาร์
นายอัทธ์กล่าวว่า ไม่อยากให้มองว่าไทยต้องไปแข่งขันเพื่อให้เป็นที่ 1 ในอาเซียนเท่านั้น แต่ควรมองในเรื่องของการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย และและประคมเศรษฐกิจอาเซียนในระยะยาว ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกว่า 5% ขณะที่ประเทศอื่นในอาเซียนแข็งค่าขึ้นประมาณ 1% ทำให้ความสามารถแข่งขันการส่งออกลดลง เพราะการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1% กระทบต่อการส่งออกจะลดลง 2.4% แต่ยังมองว่าทิศทางการส่งออกสินค้าไทยในปีนี้ยังมีโอกาสดีขึ้น แม้จะประสบปัญหาค่าเงินบาท แต่ด้วยปัจจัยเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในสหรัฐและยุโรป ที่ปรับตัวดีขึ้นน่าจะทำให้การส่งออกเดินหน้าและขยายตัวได้ 4-8% แต่อัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยทั้งปีจะต้องอยู่ระหว่าง 28-30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ที่มา : [urlx=http://www.dailynews.co.th]http://www.dailynews.co.th[/urlx]